ต้นกำเนิดของขนมพระจันทร์ หรือ ขนมไหว้พระจันทร์ (Moon Cake)

เมื่อพูดถึงเรื่องราวความเป็นมาของ วันไหว้พระจันทร์ กันไปแล้ว ที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้ก็จะเป็นเรื่องของ "ขนมพระจันทร์" หรือ "ขนมไหว้พระจันทร์ (月饼)" ที่อยู่เคียงคู่กับเทศกาลไหว้พระจันทร์ นั่นเองค่ะ สำหรับเรื่องราวส่วนนี้ มีความเกี่ยวข้องกับพงศาวดารของจีนด้วยนะคะ และน่าจะถือเป็นต้นกำเนิด "ขนมพระจันทร์" หรือ "ขนมไหว้พระจันทร์" ที่พอมีเอกสารอ้างอิงก็ว่าได้ค่ะ

รูปประกอบ

เมื่อย้อนหลังไปประมาณ 600 กว่าปีที่ผ่านมา ในยุคนั้นเป็นยุคตอนปลายของ ราชวงศ์หยวน (元朝) เจงกิสข่าน (成吉思汗) หรือ "เถี่ยมู่เจิน (铁木真) ที่คนไทยส่วนมากรู้จักกันในชื่อ เตมูจิน" แห่งอาณาจักรมองโกลได้แผ่ขยายอิทธิพล เข้าทำการยึดครองแผ่นดินจีน เมื่อเจงกิสข่านยึดสถานที่ใดได้แล้ว ก็จะออกกฎระเบียบ และการปกครองที่เข้มงวด

เจงกีสข่าน
ภาพวาด เจงกีสข่าน สมัยราชวงศ์หยวน
เจงกีสข่าน
ภาพวาด ทหารมองโกล

และ ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวดนั้น ได้บีบบังคับให้ชาวจีนที่ถูกปกครองได้รับความลำบาก ยากแค้น เป็นอย่างยิ่ง (ลำบากขนาดไหน ลองหลับตานึกตามดูเน๊าะ มีระบุไว้ว่า บังคับให้ชาวจีนสามครอบครัว เลี้ยงดูชาวมองโกล หนึ่งครอบครัว, บังคับให้ขุดคลองแม่น้ำเหลือง, ให้แต่ละครอบครัว สามารถมีมีดที่ใช้ทำอาหารได้เพียงเล่มเดียว เพื่อป้องกันการต่อต้านและการสะสมอาวุธ ฯลฯ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ว่า ใจร้ายจังเลย) เมื่อเกิดการกดขี่ และ บีบบังคับ ผู้คนทุกข์ยาก ไม่ได้รับความเป็นธรรม มากๆเข้า โดยธรรมชาติของมนุษย์ก็เลยเกิดการต่อต้านราชสำนักมองโกลขึ้นไปทั่วทุกหัวระแหง แต่ผู้คนก็ ไม่สามารถติดต่อประสานงานกันได้ เพราะราชสำนักมองโกลได้ทำการกีดกัน อีกทั้งยังปิดกั้นทุกวิถีทางอย่างเข้มงวด แม้แต่การสุมหัวคุยกัน แค่เพียงสองคนก็อาจมีความผิดถึงขั้นประหารชีวิตได้

วันไหว้พระจันทร์ วันกอบกู้เอกราช

แต่ถึงจะปิดกั้นขนาดนั้น ก็ยังมี การแอบรวมรวมกำลังคนเพื่อทำการต่อต้านกันอย่างลับๆไปทั่ว (ในช่วงของระยะเวลานี้เอง ยังมีการกล่าวอ้างถึงการกินเจ 齋/斋 เพื่อต่อต้านพวกมองโกลด้วย) เวลานั้น "หลิว ปั๋วเวิน" (劉伯溫) ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ "หมิงไท่จู่ จูหยวนจาง"(朱元璋)จึงได้ออกอุบาย ทำขนมแบบมีไส้ โดยมีลักษณะเป็นก้อนกลมๆขึ้นมา ซึ่งในขนมแบบมีไส้นั้น "หลิว ปั๋วเวิน" ได้พับกระดาษสื่อสารชิ้นเล็กๆ ใส่เอาไว้ในไส้กลางของขนม โดยใจความนั้น เขียนเอาไว้ว่า "ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ลุกฮือสังหาร สังหารคนป่าเถื่อน"(八月十五夜杀鞑子)ซุกซ่อนอยู่ในขนม โดยใช้ให้คนจำนวนหนึ่ง ส่งขนมรูปร่างกลมๆนี้ แจกจ่ายให้กับชาวบ้าน และ ขุมกำลังของเค้าที่สำคัญๆ โดยกำชับว่าจะต้องแบ่งขนมนี้ ให้กับทุกคนกินเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงโรคภัยไข้เจ็บ

หมิงไท่จู่
ภาพ หมิงไท่จู่ (朱元璋) ปฐมจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง
หลิว ปั๋วเวิน
ภาพวาด หลิว ปั๋วเวิน (劉伯溫)

นับว่าเป็นกลอุบายที่แยบยลของเค้า ที่ตบตาทหารมองโกล ทำให้ทหารมองโกลไม่สงสัย ชาวบ้านที่ถูกกดขี่เมื่อได้รับขนมนี้ และ เห็นกระดาษสื่อสารที่เขียนสอดไส้อยู่ในขนม เมื่อถึงเวลา จึงทำการลุกฮือ และ ก่อการต่อต้านราชวงศ์มองโกลขึ้นพร้อมเพรียงกัน ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นใน คืนวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เมื่อเกิดการลุกฮือขึ้นพร้อมกัน ทหารมองโกลไม่ทันตั้งตัว จีงพลาดท่าเสียทีให้ กองทหารของ "จูหยวนจาง"(朱元璋)ทำให้ทหารของ "จูหยวนจาง" สามารถรุกเข้ายึดสถานที่ต่างๆ และ เข้าตีค่ายของชาวมองโกล ได้สำเร็จ และเมื่อก่อการโค่นราชวงศ์มองโกลได้สำเร็จ "หมิงไท่จู่ จูหยวนจาง" (朱元璋) จึงสถาปนาราชวงศ์หมิงขึ้น ซึ่งต่อมาเรารู้จักกันในนาม "จักรพรรดิหงอู่ ปฐมบรมกษัตริย์ผู้สถาปนาราชวงศ์หมิงของจีน" นั่นเองค่ะ

ขนมพระจันทร์
ภาพจำลอง ขนมพระจันทร์ ของ หลิว ปั๋วเวิน (劉伯溫)
ชาวบ้านที่ออกมาต่อต้านชาวมองโกล
ภาพประกอบ ชาวบ้านที่ออกมาต่อต้านชาวมองโกล

ส่วน "หลิว ปั๋วเวิน" (劉伯溫) นั้น ด้วยสติปัญญา และ ความรอบรู้ในศาสตร์ต่างๆ อีกทั้งยังสามารถหยั่งรู้ดิน ฟ้า ในกาลต่อมาทำให้ผู้คนต่างยกย่องท่านเทียบเท่าขงเบ้ง ปรากฎเป็นสำนวนที่ชาวบ้านเล่าขานกันว่า "诸葛武侯在世" ซึ่งแปลว่า ขงเบ้งกลับชาติมาเกิด ถ้าถึงกับมีคำกล่าวขนาดนี้ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ว่า ในยุคสมัยนั้น ท่านต้องเก่งมากๆเลยทีเดียวเชี่ยวนะคะ เพราะไม่เคยมีชาวจีนยกย่องใครที่จะขึ้นไปเทียบเคียงเท่ากับ "ขงเบ้ง" มาก่อนเลย

พระจันทร์

หลังจากขับไล่ชาวมองโกล ได้สำเร็จ จักรพรรดิหงอู่ หมิงไท่จู่ ได้จัดให้มีการฉลองชัยชนะ และ ทุกๆปีก็จะมีการเปิดประตูวังเพื่อร่วมฉลองกับประชาชนในคืนเทศกาลจงชิว ของทุกปี และเรียกขนมก้อนกลมๆนี้ว่า "ขนมพระจันทร์" หรือ ที่ชาวไทยเราคุ้นเคย ว่า "ขนมไหว้พระจันทร์" นั่นเองค่ะ

วันไหว้พระจันทร์ ยุคปัจจุบัน

สำหรับในยุคปัจจุบัน เมื่อถึงช่วงคืนวันเพ็ญ ของเดือนที่ 8 (วันที่ 15 เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน) เราจะเห็นทั้งชาวจีน ชาวไทยเชื้อสายจีน สืบทอดประเพณีจัดพิธีไหว้ดวงจันทร์ โดยจะทำการหันโต๊ะพิธีเข้าหาดวงจันทร์

โต๊ะไหว้พระจันทร์

ส่วนสิ่งของบนโต๊ะนั้น จะประกอบไปด้วย อาหารเจ (อาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์)

โดยส่วนใหญ่จะใช้ อาหารเจ แห้ง 5 ชนิด ได้แก่

1. วุ้นเส้น

2. เห็ดหูหนู(ใช้ได้ทั้งขาวและดำ)

3. ดอกไม้จีน

4. ฟองเต้าหู้

5. เห็ดหอม

อาหารเจแห้ง 5 ชนิด
ภาพประกอบ อาหารเจแห้ง 5 ชนิด
ขนมไหว้พระจันทร์
ภาพ ขนมไหว้พระจันทร์

ซึ่งนอกจาก อาหารเจแห้ง ทั้ง 5 ชนิดนี้แล้ว ยังนิยมนำผลไม้ และ ขนมต่างๆมาไหว้ แต่ที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือ "ขนมไหว้พระจันทร์" ที่เป็นที่มาของบทความนี้นั่นเองค่ะ

ส่วนผลไม้ สำหรับในเทศกาลนี้ จะนิยมใช้ ส้มโอ และ เผือกทั้งหัว นำมาประกอบพิธี เพื่อเซ่นไหว้ให้กับดวงวิญญาณของเหล่าวีรชนที่เสียสละชีวิต ในการรบกับชาวมองโกล โดยให้ ส้มโอ และ หัวเผือกทั้งหัวนั้น แทนศีรษะ ของทหารชาวมองโกล คำว่า "เผือก ในภาษาจีน จะออกเสียงคล้ายคำว่า หู ซึ่งแปลว่า ชนเผ่าเร่ร่อน หรือ ชาวมองโกล" สำหรับผลไม้อื่นๆ ที่นำมาร่วมในพิธีไหว้พระจันทร์นี้ ก็จะมีลักษณะกลมๆ เช่นกันค่ะ

โต๊ะไหว้พระจันทร์
ภาพประกอบ โต๊ะไหว้พระจันทร์

ส่วนเครื่องไหว้ก็จะมี ธูป เทียน กระถางธูป กระดาษไหว้พระจันทร์ กระดาษเงิน กระดาษทอง ซึ่งบางบ้านนำมาทำเป็นโคมไฟกระดาษเงินกระดาษทอง และ มักนิยมใช้แผ่นป้ายที่เขียนตัวหนังสือจีนว่า "ตงชิว" ในภาษาแต้จิ๋ว หรือ "จงชิว" (中秋) ในภาษาจีนกลาง ซึ่งแปลว่า "ไหว้พระจันทร์"

นอกเหนือจากการไหว้พระจันทร์แล้ว หลายคนยังถือเอาวันนี้ เป็นวันไหว้บูชา "พระโพธิสัตว์จันทราเทวี หรือ พระจันทรประภาโพธิสัตว์ (月光菩薩)" ซึ่งเป็นความเชื่อในทางมหายาน และ เต๋า ("พระโพธิสัตว์จันทราเทวี หรือ พระจันทรประภาโพธิสัตว์ (月光菩薩) เป็นคนละองค์กับ เทพธิดาฉางเอ๋อ") อีกทั้งบางคนก็ยังถือเอาวันนี้ เป็นวันไหว้ "เจ้าแม่กวนอิม" ด้วย นะคะ

เจ้าแม่กวนอิม
ภาพ เจ้าแม่กวนอิม (觀世音)
พระจันทรประภาโพธิสัตว์
ภาพ พระจันทรประภาโพธิสัตว์ (月光菩薩)

ในเทศกาลนี้ ผู้หญิง มักนิยมนำแป้ง และเครื่องประทินโฉมต่างๆ มาวางบนโต๊ะพิธี เพื่อขอพลังแห่งดวงจันทร์ซึ่งถือว่าเป็นพลังที่จะช่วยให้สวยงาม และยังเชื่อว่า ถ้าหากผู้หญิงนำเอาผลไม้ที่ไหว้พระจันทร์ไปถูหน้า จะทำให้ผิวพรรณสวยงาม หากรับประทานผลไม้ไหว้พระจันทร์ จะทำให้ดวงตาสดใส และ หายจากโรคผิวหนังได้ด้วยค่ะ

ส่วน ส้มโอที่นำมาไหว้นั้น ถ้าผ่าออกแล้ว เห็นกลางส้มโอลูกนั้นแห้งก็แสดงว่ามี โชคลาภ นอกเหนือจากนี้ ในตำนานพื้นบ้านของชาวจีนยังมีความเชื่อว่า การนอนดึกในคืนวันไหว้พระจันทร์จะยิ่งทำให้อายุยืนยาว อีกด้วยนะคะ

พระจันทร์

เรื่องราวของวันไหว้พระจันทร์ เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความเชื่อต่างๆ อาจเปลี่ยนแปลงไปตามยุค ตามสมัย ตามกาลเวลา สำหรับในปัจจุบัน วันไหว้พระจันทร์ ชาวจีนจะถือว่าเป็นวันที่คนในครอบครัวจะแสดงความสามัคคี โดยจะมารวมตัวกัน เพื่อที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้า และ ชื่นชมดวงจันทร์พร้อมๆกัน ถือเป็น "วันแห่งการอยู่พร้อมหน้าของครอบครัว" นั่นเป็นสิ่งที่สำคัญของเทศกาลไหว้พระจันทร์ "ถ้าหากวันนี้เรายุ่งจนหลงลืมบางอย่างไป กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ อยากให้เทศกาลไหว้พระจันทร์ เป็นเทศกาลที่ทำให้เราหันกลับไปมอง ครอบครัว และ ให้เวลาดีๆ แบ่งปันความสุขให้กัน" นะคะ

ชุดกี่เพ้า
ชุดกี่เพ้า

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ หวังว่า เพื่อนๆหรือผู้ที่เข้ามาอ่านคงได้ประโยชน์จากเรื่องราวของ วันไหว้พระจันทร์ ที่ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ไปค้นคว้า และ เรียบเรียงมาไม่มากก็น้อย วันไหว้พระจันทร์ปีนี้ ขอให้ เฮงๆ ร่ำรวย สวย มีออร่า น่าหลงใหล เฉกดั่งเช่น เทพธิดาฉางเอ๋อ กันทั่วหน้าจร้า สำหรับใครที่กำลังมีความรัก ก็ขอให้สมหวัง สมความปรารถนากันทุกๆคนน๊าาา สำหรับเรื่องราวของ วันไหว้พระจันทร์นี้ ถ้าหากมีข้อผิดพลาดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ หากมีอะไรที่ตกหล่นหรือไม่สมบูรณ์ แนะนำ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ได้ ที่นี่ ค่ะ

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, หนังสือ และ วารสารต่างๆ ฯลฯ

ภาพประกอบจาก วิกิมีเดียคอมมอนส์, pixabay,pxhere

เรียบเรียงโดย GibGub Shop / ร้าน กิ๊ฟกั๊ฟฟ์