เทศกาลกินเจ (Vegetarian Festival)

มีเรื่องราวดีๆเก็บเอามาฝากกันเหมือนเช่นเคยนะคะ ในครั้งนี้ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ เก็บเรื่องราวของ "ประเพณีถือศีลกินผัก" หรือที่เราคุ้นเคย และเรียกขานกันทั่วๆไปว่า "เทศกาลกินเจ" 九皇斋节 หรือ "เจียะแจ" 食齋 (Vegetarian Festival) ที่กำลังจะมาถึง นั่นเองค่ะ

รูปประกอบ

"เทศกาลกินเจ" จะเริ่มใน แรมขึ้น 1- 9 ค่ำ ของเดือนที่เก้า ตามปฏิทินของจีน ซึ่งถ้าเทียบกับปฎิทินของไทยแล้ว ในแต่ละปีก็จะตรงกับเดือนเก้าบ้าง บางปี บางครั้งก็จะตรงกับเดือนสิบบ้าง และเมื่อ "เทศกาลกินเจ" มาถึง อาหารต่างๆ ที่ประกอบไปด้วย พืช ผัก ต่างๆ ที่ไม่มีเนื้อสัตว์ จะขายดีเป็นพิเศษ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ว่า คนที่ชอบทานผัก น่าจะชื่นชอบกับ เทศกาลนี้นะคะ (แอบบ่นนิดนึงว่า....ผักแพ๊ง...แพงงงๆๆๆ ทุกปีเล้ยย....)

วันเริ่มต้น - สิ้นสุด เทศกาลกินเจ

齋

กดเพื่อคำนวณ วันเริ่มต้น-สิ้นสุด ของเทศกาลกินเจ

 

วันเริ่มต้นของเทศกาลกินเจในปี พุทธศักราช 2567 จะเริ่มต้นใน วันพฤหัส ที่ 3 ต.ค. พ.ศ. 2567 และสิ้นสุดใน วันอังคาร ที่ 1 ต.ค. พ.ศ. 2567 ซึ่งตรงกับ ปี 4722 ในปฏิทินจีน

เรื่องราวของเทศกาลกินเจ

การกินเจ เริ่มต้นมาจาก พิธีบูชาดวงดาวของจีนในสมัยโบราณ ที่จะทำกันในกลุ่มของหมู่ชนชั้นสูง และเริ่มเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป จากการเผยแพร่ของพระจากนิกายมหายานของจีน ซึ่งต่อมา "ลัทธิเต๋า" หรือ "ศาสนาเต๋า" ในยุคปัจจุบัน ก็ได้นำเอา พิธีบูชาดวงดาวนี้มาผสมผสานเข้าไปในพิธีกรรม จนกระทั่ง แพร่หลาย กลายมาเป็นประเพณี และ เทศกาล อย่างที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

ดวงดาว

แต่ทว่า จุดเริ่มต้นของเทศกาลนี้ที่สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน อยู่ที่ตอนปลายของ "ราชวงศ์ฮั่น" ในยามเมื่อถึงเดือน 9 อากาศจะเริ่มหนาวเย็น ผู้คนต่างก็หวาดกลัวโรคภัยไข้เจ็บ และภัยอันตรายต่างๆ เมื่อถึงเวลาค่ำคืน มีดาวดวงนึงที่ชื่อว่า "ดาวเป๋ยโต่ว 北斗" ( ที่บางคนอาจรู้จักหรือเรียกว่า "ดาวกระบวยเหนือ" แต่ที่คุ้นกันโดยมากและรู้จักเป็นส่วนใหญ่จะเรียกว่า "ดาวจระเข้" หรือว่า "ดาวหมีใหญ่" นั่นแหล่ะค่ะ แต่ทั้งหมดก็คือดาวดวงเดียวกันที่เรียกชื่อต่างๆกันไป) เรื่องของเรื่องก็คือ "ดาวเป๋ยโต่ว" ที่ว่า ก็จะหายไปจากท้องฟ้าในช่วงของเดือนนี้ ทำให้ผู้คนเองต่างก็หวาดกลัว

"ในความคิดของ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ คิดว่าในสมัยนั้นไม่มีไฟฟ้า ยามค่ำคืน การที่จะระบุทิศทางในการเดินทางแบบง่ายที่สุด น่าจะต้องใช้ดวงดาว หรือ ดวงจันทร์ ถ้าเราเคยอยู่ในยุคปัจจุบัน แล้วปุ๊บปั๊บต้องไปอยู่ในยุคนั้น กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ว่า คงน่ากลัวพิลึกเลยทีเดียว"

ผู้คนในยุคนั้น มีความหวาดกลัว ดังที่กล่าว จึงได้จัด "เทศกาลฉงหยาง" (重阳节) ขึ้นมาใน วันที่ 9 เดือนเก้า เมื่อมาถึงตรงนี้ก็มีเรื่องราวของ "ศาสนาเต๋า" เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดย "ศาสนาเต๋า" ได้ทำการ รวมเอาพิธีบูชา "ดาวเป๋ยโต่ว 北斗" เข้าไว้ในพิธีกรรมส่วนหนึ่งของ "เทศกาลฉงหยาง" ด้วย ซึ่งพิธีกรรมที่ว่านี้ก็จะ เริ่มตั้งแต่ 1ค่ำ ถึง 9 ค่ำ ของเดือนเก้า การทำพิธีนี้ "ศาสนาเต๋า" เชื่อว่า "เทพแห่ง ดาวเป๋ยโต่ว 北斗" จะลงมาตรวจดูโลกมนุษย์ในช่วงนี้ จึงทำให้ "ดาวเป๋ยโต่ว 北斗" นั้นหายไปจากท้องฟ้า การจัดพิธีบูชาก็มีความเชื่อว่า "เทพแห่ง ดาวเป๋ยโต่ว 北斗" จะช่วยคุ้มครองเภทภัยและภยันตรายต่างๆให้

เทพนารีโต๋วหมู่
ภาพเทพนารีโต๋วหมู่ 斗母 ดารกมาตา ("ดา-ระ-กะ-มา-ตา")

ครั้นเมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงยุคราชวงศ์ซ่ง ก็ได้มีการสร้าง "เทพนารีโต๋วหมู่ 斗母 ดารกมาตา" (อ่านว่า "ดา-ระ-กะ-มา-ตา") ให้เป็นเทพมารดรแห่งดวงดาวทั้งปวง รวมถึง "ดาวเป๋ยโต่ว 北斗" ทั้ง 9 ดวงด้วย อีกทั้งยังถือให้เป็นเทพประจำเทศกาลกินเจ 1-9 ค่ำของเดือนเก้า โดยที่ในยุคนี้เองเรื่องราวของ "เทพจิ่วหวง(เก้าจักรพรรดิ)" ที่เป็นตำนานพื้นบ้าน ก็ถูกควบรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับ "เทพดาวเป๋ยโต่ว" การกินเจในยุคนั้น จึงมีชื่อเรียกกันโดยทั่วไปว่า "จิ่วหวงไจ (กิ๋วห่วงเจ) 九皇斋" ซึ่งหมายถึง "เจเก้าจักพรรดิ"

การกินเจที่ถูกอ้างถึงในยุคราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หยวน

จักรพรรดิซ่งตี้ปิง
ภาพ กษัตริย์เป๊ง (ซ่งตี้ปิง) กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ่ง
จักรพรรดิหยวนซื่อจู
ภาพ หยวนซื่อจู หรือ กุบไล ข่าน จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หยวน

ต่อมาเมื่อถึง ปลายสมัย "ราชวงศ์ซ่ง" กองทัพของมองโกล ที่นำโดย "กุบไล่ขาน" ซึ่งเป็นกษัตริย์ของมองโกลได้รุกรานประเทศจีน "ราชวงศ์ซ่ง" ไม่สามารถต้านทานได้ ขณะนั้น "กษัตริย์เป๊ง (ซ่งตี้ปิง) 宋帝昺 แห่งราชวงศ์ซ่ง" ซึ่งมีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา อีกทั้งพระองค์ยังเป็นกษัตริย์พระองค์สุดท้ายในราชวงศ์ซ่ง จึงต้องหนี แต่ก็ไม่สามารถหนีรอดเงื้อมมือของทหารมองโกลพ้น พระองค์และเหล่าผู้ติดตามจึงตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม(ฆ่าตัวตาย) โดยกระโดดลงไปในทะเล ในขณะที่ทรงเสด็จไปไต้หวันทางเรือ และสิ้นชีวิตในทะเล (สำหรับข้อมูลตรงนี้ เท่าที่ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ค้นคว้าดูจากหลายๆที่ ยังมีความขัดแย้งกันเองอยู่พอสมควรค่ะ)

รูปประกอบ

เมื่อข่าวนี้ทราบไปถึง "ชาวมณฑลฮกเกี้ยน" ซึ่งเป็นแผ่นดินที่ชาวบ้านผูกพันอย่างมากกับราชวงศ์ซ่ง ชาวบ้านจึงได้ทำพิธีไว้อาลัย ด้วยการแต่งการด้วยชุดขาวซึ่งทำมาจากผ้าดิบ เพื่อไว้ทุกข์และอุทิศส่วนกุศลให้กับ "กษัตริย์เป๊ง (ซ่งตี้ปิง) 宋帝昺" โดยของที่เกี่ยวเนื่องในพิธี ส่วนใหญ่จะใช้เป็นสีเหลืองเกือบทั้งหมด ซึ่งสีเหลืองเองเป็นสีสำหรับกษัตริย์ ซึ่งจากตรงนี้ มีข้อมูลหลายๆที่กล่าวอ้างว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้สีเหลืองใน "เทศกาลกินเจ" นั่นเองค่ะ

เรื่องราวของการกินเจยังไม่ได้จบลงเพียงเท่านี้นะคะ มีการกล่าวถึงว่า "เทศกาลกินเจ" ในยุคสมัยของ "ราชวงศ์หยวน" อีกด้วย หลังจากที่สิ้นราชวงศ์ซ่งไปแล้ว "กุบไล่ขาน" ได้สถาปนาราชวงศ์หยวนขึ้นมา ชาวจีนซึ่งถูกปกครองและกดขี่ โดยชาวมองโกลได้ใช้ "เทศกาลถือศีลกินผัก" นี้เอง เป็นข้ออ้างเพื่อที่จะรวมกลุ่มในการชุมนุมต่อต้านพวกมองโกล ถึงกับกล่าวกันว่า รายชื่อของผู้ที่ ถือศีล กินผัก ในยุคนั้นก็คือ พวกที่ต่อต้านชาวมองโกลทั้งหมด (เรื่องราวตรงนี้ ยังมีความเกี่ยวเนื่องกันกับเรื่องของ ขนมไหว้พระจันทร์ ที่ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ เคยเรียบเรียงมาฝากด้วยนะคะ)

เทพนาจา
ภาพเทพเจ้า นาจาซาไท้จื้อ
เทพนาจา
ภาพเทพเจ้า นาจาซาไท้จื้อ
เทพนาจา
ภาพเทพเจ้า นาจาซาไท้จื้อ

จวบจนมาถึงยุคปัจจุบัน การกินเจ เองก็มีการปรับเปลี่ยนแก้ไข เปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยมและความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น และสำหรับชาวจีนที่เป็น ชาวจีนเชื้อสาย "ฮกเกี้ยน" เอง ก็ยังมีความเชื่อเพิ่มเติมด้วยว่า ในวันขึ้น 9 ค่ำเดือนเก้า เป็นวันประสูติ ถือกำเนิดของ "เทพนาจา 哪吒 / 哪吒" กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ไม่แน่ใจว่าเพราะสาเหตุนี้หรือเปล่าในเทศกาลกินเจ เราจึงมักเห็นขบวนแห่เทพเจ้า โดยม้าทรงซึ่งจะแสดงฤทธิ์ สำแดงความศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ให้เราได้เห็น เป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจกันเสมอๆ เมื่อมาถึงเทศกาลนี้

วิธีการปฏิบัติตนในช่วงกินเจ 吃斋节7大忌

เทศกาลกินเจ
ภาพ เทศกาลกินเจที่ภูเก็ต ปี 2010

สำหรับผู้ที่ต้องการกินเจ เพื่อความบริสุทธิ์ และได้ผลบุญบริบูรณ์อย่างเต็มที่ ในช่วงของระยะเวลา 9วัน 9คืน ของ "เทศกาลกินเจ" ที่นอกเหนือจากคำกล่าวที่หลายๆคนเคยได้ยินว่า "หนึ่งมื้อกินเจ หมื่นชีวิตรอดตาย" (吃一顿斋。普度众生) จะมีข้อปฎิบัติ รวมถึงข้อห้าม อยู่ด้วยกัน 7 ข้อด้วยกันค่ะ (在吃斋节9中要素食主义者必须遵守下面7大戒律) ซึ่งข้อห้ามและข้อปฎิบัติเหล่านี้ กล่าวกันว่าจะทำให้การกินเจของผู้ที่กินเจนั้น ได้ผลบุญเต็มที่ในช่วงของเทศกาลกินเจ ข้อห้ามเหล่านั้นมีอะไรบ้าง เราไปดูด้วยกันนะคะ


1. ข้อแรก งด/ห้าม กินเนื้อสัตว์ รวมถึงทำร้าย ทำอันตราย หรือเบียดเบียนสัตว์

禁止吃肉或者做出伤害动物的事情


2. ข้อที่สอง งด/ห้าม กิน นม เนย ไขมัน หรือ น้ำมันทุกชนิดที่ได้มาจากสัตว์

禁止喝牛奶、吃奶酪或者动物油


3. ข้อที่สาม งด/ห้าม กิน อาหารรสจัดจ้านทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นอาหารรสเผ็ดจัด อาหารรสหวานจัด อาหารรสเปรี้ยวจัด อาหารรสเค็มจัด

禁止吃重口味的食物,凡辣、重甜、重咸的食物都不可以。


4. ข้อที่สี่ งด/ห้าม กิน พืช ผัก เครื่องเทศหรือเครื่องปรุงอาหารที่มีส่วนผสมของ กระเทียม หัวหอม ต้นหอม หลักเกียว กุยช่าย บุหรี่ ยาสูบ ในช่วงเวลานี้นะคะ ที่มีข้อห้ามข้อนี้ในเทศกาลเจ เพราะ ถ้าเราทานสิ่งของเหล่านี้เข้าไป นอกจากจะเป็นอาหารที่มีกลิ่นรุนแรงแล้ว ยังมีพิษที่จะคอยทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ในร่างกาย ซึ่งมีผลต่อการทำงานของอวัยวะสำคัญในร่างกายมนุษย์ (นอกจากนั้นยังอาจกระตุ้นเรื่องกามารมณ์อีกด้วยค่ะ)

禁止在烹饪的时候加入重口味的香料或配料,例如:大蒜、洋葱、葱花、大葱、韭菜心、韭菜,还包括烟草和酒精。

因为带有浓烈味道的食物不仅气味强烈还会给我们人体的五大器官带来毒素,从而影响人体主要器官的运作。


5. ข้อที่ห้า งด/ห้าม ดื่มสุรา เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และของมึนเมา ทุกๆชนิด

要谨遵戒律:不许碰酒精


6. ข้อที่หก ควรที่จะ สวมใส่ชุดขาว เพื่อสำรวม กาย วาจา ใจ ทำบุญ/ทำทาน รักษาศีล ในช่วงระยะเวลานี้

要做善事,凡是信徒在遵从戒律时候要穿白色衣服。


7. ข้อที่เจ็ด ทำจิตใจให้มีเมตตา และ รักษาจิตใจให้บริสุทธิ์

要有慈悲之心,保持心灵平静纯净。


หลักหัวใจที่สำคัญของการกิน "เจ 齋/斋"

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในนิกายมหายาน
ภาพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในนิกายมหายาน (วัดเล่งเน่ยยี่2)

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว เราจะเห็นว่า หลักหัวใจที่สำคัญของการกิน "เจ 齋/斋" ที่นอกเหนือจากการกินเพื่อสุขภาพ หาใช่การกินผักเพียงแค่อย่างเดียวนะคะ ยังมีข้อห้ามต่างๆอีกมากมายเลยทีเดียว แต่จุดประสงค์ของการกินเจโดยสรุปก็คือ การทำร่างกายและจิตใจให้บริสุทธิ์ ด้วยการ ทำบุญ ทำทาน รักษาศีล ทำสมาธิภาวนา ซึ่งป็นวัตถุประสงค์หลักของเทศกาลนี้นั่นเองค่ะ

นอกเหนือจากนี้ คำว่า "เจ 齋/斋" ในภาษาจีนยังมีความหมายว่า "อุโบสถ" เป็นคำแปลของทางพุทธศาสนาใน นิกายมหายาน ซึ่งถ้าแปลตรงๆก็คือ การรักษาศีล (อุโบสถศีล ศีลแปด) นั่นเองค่ะ จริงๆ ถ้าจะให้ดี ช่วงของ เทศกาลกินเจ ถ้าไม่ติดขัดอะไร กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ว่าเรามาถือ "อุโบสถศีล" หรือ "ศีล 8" ร่วมด้วยน่าจะทำให้ การกินเจ ของเราเองบริสุทธิ์ บริบูรณ์ และ ได้บุญกุศลเต็มที่จริงๆ แต่ด้วยสภาวะของสังคมที่ยุ่งเหยิงในยุคปัจจุบัน อย่างน้อยถ้าถือศีล 8 ไม่ได้ เอาแค่ "ศีล 5" ก็น่าจะดีนะคะ อย่างน้อยก็สักปีละครั้งเน๊าะคะ

สรุปเทศกาลกินเจที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน ที่ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ไปเรียบเรียงข้อมูลมาให้อ่าน ก็มีที่มาเริ่มต้นมาจากการบูชาดวงดาว และเผยแพร่โดยศาสนาพุทธนิกายมหายาน ถูกนำมาต่อยอดโดยศาสนาเต๋า หล่อหลอมผ่านยุคสมัยต่างๆ จนมาถึงปัจจุบันเมื่อผ่านห้วงของกาลเวลาที่ยาวนาน การกินเจ ก็มีความเชื่อที่หลากหลาย และแตกต่างกันไป ชึ้นอยู่กับความเชื่อและประเพณีท้องถิ่น ซึ่งก็มีหลากหลายมากๆเลยนะคะ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ อาจจะเรียบเรียงมาให้เพื่อนๆอ่านไม่หมด ถ้ามีอะไรตกหล่น หรือ ผิดพลาด แนะนำ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ได้ ที่นี่ ค่ะ

พระอาจารย์เว่ยหลาง
คำสอนของ พระอาจารย์เว่ยหลาง หรือ ฮุ่ยเหนิง (慧能/惠能)

และสุดท้ายกับเรื่องราวของ "การกินเจ" กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ เก็บเอาคำสอนของ "พระอาจารย์เว่ยหลาง หรือ ฮุ่ยเหนิง (慧能/惠能)" สังฆปรินายกลำดับที่ 6 แห่ง นิกายฉานจง มาฝากนะคะ เพราะเห็นว่าได้ข้อคิดดีๆ กับข้อความที่ท่านได้ถ่ายทอดไว้ กล่าวกันว่าแม้ท่านมรณะภาพมานานนับพันปี แต่ร่างกายของท่านในปัจจุบันก็ยังคงไม่เน่าเปื่อย สรีระของท่านนั่งขัดสมาธิเป็นหินอย่างสมบูรณ์ ขออนุโมทนาบุญกับทุกๆคนที่ตั้งใจรักษาศีล ทำความดี และเจริญภาวนา ในเทศกาลกินเจนี้กันทุกๆคนเลยค่ะ

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย, หนังสือ และ วารสารต่างๆ ฯลฯ

ภาพประกอบจาก วิกิมีเดียคอมมอนส์, pixabay, pxhere

เรียบเรียงโดย GibGub Shop / ร้าน กิ๊ฟกั๊ฟฟ์