วันตรุษจีน (春節)

ทุกๆปี เมื่อผ่านพ้นวันปีใหม่ที่เป็นสากลไปแล้ว ก็จะถึงเทศกาลวันสำคัญอีกหนึ่งวันที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะชาวไทยเชื้อสายจีน ซึ่งวันสำคัญที่ว่านี้ก็คือ วันตรุษจีน (春節) ชุนเจี๋ย หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน นั่นเองค่ะ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ เชื่อว่าหลายๆคนที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนเองน่าจะทราบเรื่องราวของวันตรุษจีนกันดีอยู่แล้ว แต่อาจจะมีอีกหลายๆคนที่ยังไม่ทราบ สำหรับคนที่ยังไม่ทราบหรือสนใจ เราไปดูความเป็นมาในเทศกาลปีใหม่ของจีนไปด้วยกันนะคะ

ไฉ่สิ่งเอี๊ย

เทศกาลปีใหม่ของจีนนี่น่าสนใจมากๆ และแทบไม่น่าเชื่อเลยว่าจะเป็นเทศกาลและประเพณีที่สืบทอด ส่งต่อผ่านกาลเวลาที่ยาวนานมากๆของชนชาติจีนซึ่งหลายๆที่ได้กล่าวเอาไว้ว่าเกือบ 4,000 ปี เลยทีเดียวเชียวค่ะ ด้วยความที่ยาวนานนี้เองทำให้วันปีใหม่จีนนั้น มีความหลากหลายความเชื่อ แตกต่างกันไป กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ เรียบเรียงมาฝากเป็นบางส่วนนะคะ

เรื่องราวของเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ของจีนนั้น ในสมัยก่อนนั้นมีความแตกต่างกันไปในแต่ละแคว้น แต่ละภูมิภาค อีกทั้งยังแตกต่างกันในแต่ละยุคสมัย ด้วยเหตุเพราะปฏิทินที่ใช้ในแต่ละยุคสมัยของจีนนั้นมีการกำหนดแตกต่างกัน บางยุคก็ใช้ตามแบบสุริยคติ บางยุคก็จะใช้แบบจันทรคติ จึงทำให้วันขึ้นปีใหม่ไม่ตรงกัน

เทพเจ้าการเกษตร
ภาพวาดเทพเจ้าการเกษตร เสินหนง (神农)
ไท้ส่วยเอี๊ย
ไท้ส่วยเอี๊ย (太歲爺) เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตา

ในสมัยจีนยุคโบราณ จะให้ความสำคัญกับ วันลี่ชุน (立春) ซึ่งถือกันว่าเป็น วันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ มากกว่าวันที่ 1 เดือน 1 วันลี่ชุนจะนับช่วงเวลาตามสุริยคติ ในวันนี้จะมีการเฉลิมฉลองและอัญเชิญเทพเจ้า เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ถือเป็นวันบวงสรวงสวรรค์ ประกอบพิธีเข้าเฝ้าจักรพรรดิ รวมถึงมีการเสี่ยงทายการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และขอพรจาก เทพเจ้าการเกษตร (神农) ให้การเก็บเกี่ยวอุดมสมบูรณ์

จุดกำเนิด วันตรุษจีน (春節) ที่ใช้ในปัจจุบัน

ภาพวาด จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้
ภาพวาด จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (漢武帝)
รูปปั้นจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้
รูปปั้นจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (漢武帝) เมืองซีอาน มณฑลส่านซี

แต่ทว่าจุดเริ่มต้นที่กำหนดให้ วันที่ 1 เดือน 1 ของทุกๆปี (ตามปฏิทินจีน) เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของจีนและใช้กันมาตราบกระทั่งถึงปัจจุบันนี้ กำเนิดเกิดขึ้นในยุคสมัยต้นราชวงศ์ฮั่น ประมาณราวปีพุทธศักราช 439 (ก่อนคริสต์ศักราชประมาณ 104 ปี) จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (漢武帝) ได้ทรงประกาศใช้ "ปฏิทินไท่ชู" (太初历) ซึ่งพระองค์ได้ทรงกำหนดให้เอา วันที่ 1 เดือนอ้าย (เดือนแรกของปี) ให้เป็นวันเริ่มต้น นับจากนั้น "ปฏิทินไท่ชู" นี้ก็ได้ถูกใช้แทนปฏิทินอื่นๆ และถูกใช้ต่อเนื่องมาเป็นเวลามากถึง 2,000 กว่าปี ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของ วันตรุษจีน (春節) ที่ชาวจีนในไทยยึดถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนในปัจจุบันนั่นเองค่ะ แต่การนับวันตามปฏิทินของจีนโบราณนั้น วันที่ 1 ของเดือนที่ 1 ไม่ใช่วันที่ 1 ของเดือนมกราคมนะคะ


ปฏิทินจีน
ปฏิทินจีน 1
ปฏิทินจีน
ปฏิทินจีน 2

ตามปฏิทินจีน วันตรุษจีน (春節) หรือวันปีใหม่ของชาวจีน จะอยู่ในช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคม ถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละปีก็อาจคลาดเคลื่อนแตกต่างกันไปในแต่ละปี (เนื่องจากจำนวนวันในเดือนของปฏิทินจีน บางเดือนจะมี 29 วัน และ บางเดือนจะมี 30 วันเท่านั้น ซึ่งแตกต่างกับปฏิทิสากลที่เราคุ้นเคยกัน) เพราะเหตุนี้เองจึงทำให้วันขึ้นปีใหม่ของจีน ในทุกๆปีจะไม่ตรงกันเลย

ภาพประกอบ
ภาพประกอบ

ที่มาของคำว่า "ชุนเจี๋ย" (春節)

นอกจากเรื่องราวที่เป็นจุดกำเนิดของวันตรุษจีนในปัจจุบันแล้ว ยังมีเรื่องราวที่เป็นเรื่องเล่ากึ่งนิทานของชาวบ้านถึงที่มาของคำว่า "ชุนเจี๋ย" (春節) อีกด้วยนะคะ เรื่องราวนี้ เกี่ยวโยงกับ ซิ่ว (寿) หรือ ซิ่วแช(寿星 ) "เทพแห่งอายุวัฒนะ" ที่เป็นหนึ่งในเทพแห่งความมงคลทั้ง 3 ประการ ฮก (福), ลก (禄), ซิ่ว (寿) ของจีนอีกด้วย เรื่องราวนี้เกิดในยุคสมัยของ "พระเจ้าจูอี่" (祖乙) ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งราชวงศ์ซาง มีชายหนุ่มชื่อ "ว่านเหนียน" มีความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ เขาสนใจและศึกษาจนกระทั่งมีความชำนาญ ในยุคสมัยนั้นปฏิทินที่ใช้ไม่มีความแม่นยำ ฤดูกาลที่กำหนดไว้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อการเกษตร การคำนวณฤดูกาลนั้นถูกควบคุมโดย "อำมาตย์เหิง" ซึ่งไม่ยอมรับว่าตนด้อยความรู้ความสามารถ แต่ดันกลับไปโทษผีสางเทวดา

สามเซียน ฮก (福) ลก (禄) ซิ่ว (寿)
ฮก (福) ลก (禄) ซิ่ว (寿) เทพแห่งความมงคลทั้ง 3 ประการ

อำมาตย์เหิง เสนอพระเจ้าจูอี่ ให้สร้างหอขนาดใหญ่มหึมา เพื่อทำพิธีบวงสรวงฟ้าดิน เรื่องนี้รู้ไปถึง "ว่านเหนียน" เค้าเห็นว่าการกระทำเช่นนั้นมิอาจแก้ปัญหาได้เลย มีแต่จะเพิ่มความเดือดร้อนให้กับประชาชน ว่านเหนียนจึงขอเข้าเฝ้าพระเจ้าจูอี่เพื่ออธิบายถึงสาเหตุที่การคำนวณปฏิทินแบบเก่าผิดพลาดให้ฟัง เมื่อพระเจ้าจูอี่ ได้ฟังก็ยอมรับเหตุผล รวมถึงข้อเสนอของ "ว่านเหนียน" พระองค์ทรงระงับพิธีบวงสรวง แล้วเปลี่ยนไปสร้างหอดาราศาสตร์ให้ว่านเหนียนใช้ศึกษาค้นคว้า เพื่อปรับปรุงปฏิทินให้ถูกต้อง


เรื่องราวนี้ทำให้ "อำมาตย์เหิง" ไม่พอใจเป็นอย่างมากและมีความกลัวว่าถ้าว่านเหนียนสามารถค้นคว้าสำเร็จตนเองจะถูกปลด จึงส่งคนไปลอบฆ่า "ว่านเหนียน" แต่ด้วยเดชะบุญ คนที่อำมาตย์เหิงส่งไปลอบฆ่า ถูกจับกุมซะก่อน เรื่องถึงพระเจ้าจูอี่ พระองค์ได้ทรงทำการสอบสวนจนทราบเรื่องทั้งหมด จึงรับสั่งลงโทษอำมาตย์เหิงอย่างหนัก และในคืนนั้นเองพระเจ้าจูอี่เสด็จไปเยี่ยมว่านเหนียนที่หอดาราศาสตร์ พอไปถึงว่านเหนียนได้ทูลว่า "ขณะนี้เป็นเวลาเที่ยงคืนพอดี ปีเก่ากำลังจะผ่านพ้นไป วสันต์ใหม่กำลังจะเริ่มต้น ขอพระองค์ทรงโปรดตั้งชื่อวันนี้ไว้เป็นที่ระลึกเถิด" พระเจ้าจู่อี่จึงทรงมีรับสั่งว่า "วสันต์เป็นต้นปี จงเรียกวันนี้ว่า ตรุษวสันต์ (ชุนเจี๋ย) เถิด" และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นที่มาของคำว่า "ชุนเจี๋ย" (春節) ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน แต่ทว่าเหตุการณ์ก็ยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ค่ะ

ภาพประกอบฤดูใบไม้ผลิ
   

หลังจากวันนั้น ผ่านไป คืนแล้ว คืนเล่า จากวัน ผ่านเดือน เป็นปี ว่านเหนียนใช้เวลาทั้งหมดของเขาไปกับการปรับปรุงปฏิทินจนถูกต้องแม่นยำ และตรงตามฤดูกาลได้สำเร็จ แต่ด้วยความที่เขาทุ่มเท ตรากตรำเป็นอย่างหนัก กลับส่งผลให้ผมที่เคยดกดำของเขากลับชาวหงอก บัดนี้เขากลายเป็นชายชราผมหงอกขาวโพลน พระเจ้าจูอี่เห็นดังนั้นก็ทรงตื้นตันพระทัยในความพากเพียรทุ่มเทและอดทนของว่านเหนียนมาก จึงทรงตั้งชื่อปฏิทินใหม่นั้นว่า "ว่านเหนียนลี่" (万年历) ซึ่งมีความหมายว่า "ปฏิทินของว่านเหนียน"

ซิ่วแช เทพแห่งอายุวัฒนะ
ภาพวาด เทพแห่งอายุวัฒนะ ซิ่ว (寿)
ปฏิทินจีน น่ำเอี๊ยง
ภาพซิ่วแช(寿星 ) ในหน้าปกปฏิทินจีน น่ำเอี๊ยง

อีกทั้งยังทรงแต่งตั้งให้ว่านเหนียนเป็น "โส้วซิง" (寿星) "ซิ่วแช" คือ เทพแห่งอายุวัฒนะ ซึ่งชาวจีนถือเป็นหนึ่งในเทพมงคล และเป็นพรอันประเสริฐยิ่ง 3 ประการของจีนได้แก่ "ฮก (福) หมายถึง ความสมปรารถนาในทุกสิ่ง", "ลก (禄) หมายถึง ความเจริญรุ่งเรื่อง โชคลาภ", "ซิ่ว (寿) หมายถึง การมีอายุมั่นขวัญยืน มีสุขภาพแข็งแรง" ในเทศกาลตรุษจีนชาวบ้านนิยมแขวนภาพเทพแห่งอายุวัฒนะ ก็เพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของว่านเหนียนนั่นเอง ปัจจุบันคำว่า "ว่านเหนียนลี่" หมายถึง ปฏิทินร้อยปี (หรือมากกว่าร้อยปี)ของจีน ในปัจจุบันหลายๆคนที่เคยใช้ปฏิทินร้อยปีจีนของน่ำเอี๊ยง จะเห็นรูปวาดคนแก่ที่มีเคราขาวๆ ถือไม้เท้าที่หน้าปกปฏิทิน นั่นก็คือรูปวาดของ ซิ่วแช(寿星) นั่นเองค่ะ

วันเริ่มต้น ตรุษจีน ปี 2567

 

ปีมะโรง (甲辰)

春节 2567 (甲辰)

วันตรุษจีนในปี พุทธศักราช 2567

ตรงกับ วันเสาร์ ที่ 10 ก.พ. พ.ศ. 2567 เป็นปีมะโรง (甲辰)

วันจ่าย (办年货日) ตรงกับ วันพฤหัส ที่ 8 ก.พ. พ.ศ. 2567

วันไหว้ (三十) ตรงกับ วันศุกร์ ที่ 9 ก.พ. พ.ศ. 2567

วันเที่ยว (初一) ตรงกับ วันเสาร์ ที่ 10 ก.พ. พ.ศ. 2567

กดเพื่อดู วันเริ่มต้นเทศกาล ตรุษจีน ในปีอื่นๆ

 

ประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือในเทศกาลตรุษจีน

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายๆคนน่าจะทราบถึง "จุดกำเนิดวันตรุษจีน" และที่มาของคำว่า "ชุนเจี๋ย" (春節) ใน "วันตรุษจีน" กันไปแล้วนะคะ แต่ยังมีเรื่องที่น่ารู้และเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ยึดถือใน "เทศกาลตรุษจีน" อีกด้วย ธรรมเนียมปฏิบัตินี้หลายๆอย่างก็ค่อยๆถูกกลืน และเลือนหายไปกับกาลเวลา บางอย่างก็ถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย เราไปดูประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติในเทศกาลตรุษจีนคร่าวๆ ด้วยกันนะคะ

ภาพประกอบวันตรุษจีน

ก่อนถึงวันตรุษจีน 7 วัน

ในสมัยโบราณนั้น เทศกาลตรุษจีน จะเริ่มต้นตั้งแต่วันเซ่นไหว้ "เทพเจ้าแห่งเตาไฟ" (灶神) จี้จ้าวเสิน หรือ เจ๊าซิ้ง โดยการเซ่นไหว้จะเริ่ม ก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน 7 วัน ชาวจีนเรียกวันเซ่นไหว้เทพแห่งเตาไฟว่า "วันตรุษจีนเล็ก" (小年) ซึ่งเป็นวันที่ชาวจีนส่ง "เทพแห่งเตาไฟ" (灶王爷) หรือ (灶神) กลับขึ้นไปบนสวรรค์ ชาวจีนมีความเชื่อว่าเทพแห่งเตาไฟนั้น "เง็กเซียนฮ่องเต้" (玉皇大帝) ส่งให้ลงมาช่วยปกป้องและดูแลเตาไฟประจำแต่ละบ้าน อีกทั้งยังคอยเฝ้าดูพฤติกรรมจดบันทึกการกระทำของสมาชิกทุกคนในบ้านว่าทำอะไรดีหรือไม่ดีบ้าง

เทพแห่งเตาไฟ
ภาพเทพเจ้าแห่งเตาไฟ (灶神) จี้จ้าวเสิน หรือ เจ๊าซิ้ง
เทพแห่งเตาไฟ
ภาพเทพเจ้าแห่งเตาไฟ (灶神) จี้จ้าวเสิน หรือ เจ๊าซิ้ง

และเมื่อก่อนถึงวันตรุษจีนหนึ่งสัปดาห์ เทพแห่งเตาไฟก็จะกลับขึ้นไปบนสวรรค์เพื่อรายงานพฤติกรรมของแต่ละคนนั้นให้กับเง็กเซียนฮ่องเต้ทราบ ซึ่งเง็กเซียนฮ่องเต้ก็จะพิจารณาว่าจะลิขิตชะตาชีวิตของแต่ละคนในปีต่อไปอย่างไร โดยยึดเอาตามความดีความชั่วที่เทพแห่งเตาไฟได้รายงาน การเซ่นไหว้เทพแห่งเตาไฟ ก็เพื่ออธิฐานขอให้ เทพแห่งเตาไฟ ขึ้นไปรายงานแต่เรื่องดีๆ ให้กับเง็กเซียนฮ่องเต้ซึ่งท่านจะได้ประทานความสุขความเจริญ และสิริมงคลมาให้แก่ทุกๆคนในครอบครัว


เง็กเซียนฮ่องเต้
ภาพวาด เง็กเซียนฮ่องเต้ (玉皇大帝) และเหล่าเทพเจ้า
เง็กเซียนฮ่องเต้
รูปปั้น เง็กเซียนฮ่องเต้ (玉皇大帝)

สำหรับการไหว้เทพเจ้าเตาไฟนั้น ชาวจีนจะตัดม้ากระดาษ 1 หรือ 2 ตัว ติดไว้ที่หน้าเตาไฟ อุปมาเพื่อให้ท่านใช้เป็นพาหนะขี่กลับขึ้นไปบนสรวงสวรรค์ สำหรับของไหว้นั้นก็จะแตกต่างกันไปตามแต่ละที่ ส่วนใหญ่จะไหว้ด้วยหัวหมูสุก 1 หัว ปลาดิบ 2 ตัว ชาหวาน และของหวานต่างๆ ส่วนของหวานจะนิยมใช้ขนมเหนียว ด้วยความเชื่อว่าเพื่อให้ติดปากติดฟันจนเทพเจ้าเตาไฟพูดไม่สะดวก จะได้รายงานความไม่ดีของแต่ละคนน้อยๆค่ะ นอกเหนือจากเทพเจ้าเตาไฟที่ต้องกลับขึ้นไปบนสรวงสวรรค์แล้ว เทพต่างๆก็ต้องกลับขึ้นไปเช่นกัน วันนี้ถือเป็น "วันส่งเจ้าขึ้นสวรรค์" หรือที่ชาวไทยเชื้อสายจีนเรียกกันว่า "ซิ้งเจี่ยที" (神上天) อีกด้วยนะคะ


ของประดับตกแต่งวันตรุษจีน
ของประดับตกแต่ง ในวันตรุษจีน
โคมวันตรุษจีน
โคมวันตรุษจีน

หลังจากส่งเทพเจ้าสู่สรวงสวรรค์แล้ว ชาวจีนก็จะเริ่มทยอยทำความสะอาด ประดับประดาบ้านเรือน เชื่อกันว่าเพื่อขับไล่เสนียดจัญไรและเตรียมรับสิ่งดีๆใหม่ๆในวันตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง โดยจะมีการนำกระดาษแดงเขียนตัวอักษรจีนสีทองซึ่งข้อความจะเป็นคำที่เป็นมงคล เพื่อนำมาติดที่ประตูทางเข้าบ้านเตรียมต้อนรับความเป็นสิริมงคล

วันจ่าย วันไหว้ วันถือ

การเตรียมตัวต้อนรับเทศกาลตรุษจีน จะเริ่มก่อนถึงวันตรุษจีน 2 วัน

วันจ่าย
วันจ่าย ผู้คนต่างซื้อสิ่งของเครื่องใช้ในเทศกาล
กระดาษแดง วันตรุษจีน
อักษรมงคล บนกระดาษแดงในวันตรุษจีน

วันจ่าย (办年货日) จะเริ่มก่อนวันตรุษจีน 2 วัน ซึ่งจะเป็นวันที่ไปจับจ่ายซื้อสิ่งของ เครื่องใช้ในเทศกาล เครื่องเซ่นไหว้ และอาหาร ฯลฯ เพื่อเตรียมตัวสำหรับเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากในสมัยก่อนนั้น ร้านค้าต่างๆที่เป็นของชาวจีนจะปิดกันในช่วงตรุษจีนเป็นส่วนใหญ่

ภาพประกอบวันตรุษจีน
ภาพประกอบวันตรุษจีน

วันไหว้ (三十) จะนับจากวันสุดท้ายในเดือนสุดท้ายของปี (เดือน 12 ตามปฏิทินจีนโบราณ ที่ต้องนับตามปฏิทินจีนโบราณเพราะเดือนของจีนบางเดือนมี 29 วัน บางเดือนมี 30 วันซึ่งในทุกๆปีก็จะไม่ตรงกัน) ชาวจีนเรียกวันนี้ว่า "ซาจับ" (三十) โดยจะเริ่มตั้งแต่


    ช่วงเช้าไหว้เจ้าที่ "ตี่จู๋เอี๊ย" (地主爷) ศาลพระภูมิ และตอนสายไหว้บรรพบุรุษ


    ตอนบ่ายไหว้ "หอเฮียตี๋ " (好兄弟) ผี วิญญาณไร้ญาติ สัมภเวสี ซึ่งการไหว้ผีไม่มีญาตินี้บางคนก็ไม่นิยมไหว้ในวันตรุษจีน


ในวันนี้ถือเป็นวันส่งท้ายปี มีธรรมเนียมปฏิบัติที่ชาวจีนในสมัยก่อนเน้นให้ความสำคัญมากคือไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม จะต้องกลับมาที่บ้านเพื่อ รับประทานอาหารมื้อส่งท้ายปีเก่า พร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัว ผู้ชายถ้าแต่งงานไปแล้วแยกไปอยู่ข้างนอก ถ้าบิดา มารดายังมีชีวิตอยู่ ก็จะต้องพาลูกเมียกลับมารับประทานอาหารมื้อส่งท้ายปีนี้กับบิดา มารดา ถือเป็นการแสดงความกตัญญูต่อบิดา มารดา และอาหารในมื้อนี้จะกินทุกอย่างจนเกลี้ยงจานไม่ได้ ต้องมีเหลือติดไว้ในจาน โดยมีความเชื่อและถือเคล็ดว่าปีใหม่จะได้เหลือกินเหลือใช้

ภาพประกอบวันตรุษจีน

หลังจากนั้น ก็จะเป็นการแจกเงินก้นถุง ที่เราเรียกกันว่า "อั่งเปา" (紅包) หรือ "แต๊ะเอีย" (压腰) ให้กับลูกหลานโดยจะเอาเงินใส่ไว้ในซองสีแดงสดใส สำหรับคำเรียกที่แตกต่างกันระหว่าง อั่งเปา กับ แต๊ะเอีย นั้นเกิดจาก คนจีนในสมัยก่อนจะนำเหรียญที่มีรู มาร้อยเข้าด้วยกันด้วยเชือกสีแดงและมอบให้กันในวันตรุษจีน ผู้ที่ได้รับก็จะนำมาร้อยเอาไว้ที่เอว

ภาพประกอบวันตรุษจีน
ซองอั่งเปา (紅包)
ภาพประกอบวันตรุษจีน
เงินแต๊ะเอีย (压腰)

ในสมัยนั้นจึงเรียกกันว่า "แต๊ะเอีย" (压腰) ซึ่งแปลว่า "ของที่มากดทับหรือผูกเอาไว้ที่เอว" แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เหรียญที่มีรูที่ว่าก็ค่อยๆถูกเลิกใช้จนกระทั่งในปัจจุบันไม่มีเหรียญที่มีรูนี้แล้ว การให้ "แต๊ะเอีย" จึงถูกปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นซองสีแดงที่บรรจุเงิน และเรียกซองสีแดงที่ว่านี้ว่า "อั่งเปา" ซึ่งแปลว่า ซองหรือกระเป๋าสีแดง ในขณะเดียวกันบางคนก็ยังเรียกขานซองอั่งเปากันว่า "แต๊ะเอีย" ด้วยนั่นเองค่ะ


เมื่อถึงช่วงกลางคืน (คืนวันสุกดิบ รอยต่อระหว่างคืนวันสุดท้ายของเดือน 12) ชาวจีนจะพากันอาบน้ำชำระร่างกายให้บริสุทธิ์สะอาด ไหว้พระ ไหว้เจ้า และเตรียมตัวเพื่อรอรับ "ไฉ่สิ่งเอี๊ย" (財神爺) ซึ่งชาวจีนเชื่อกันว่าเป็น "เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย หรือเทพเจ้าแห่งโชคลาภ" ที่จะดลบันดาลให้มีความเป็นศิริมงคล และมีความร่ำรวย โชคลาภยิ่งๆ ขึ้นไปในปีใหม่ ซึ่งช่วงเวลาในการรอรับ และทิศ ที่จะลงมาของ "เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ย" นั้น ในแต่ละปีก็จะไม่เหมือนกันอีกด้วยค่ะ


เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ย (財神爺) เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย โชคลาภ

เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ย
"ไฉ่สิ่งเอี๊ย" (財神爺) เทพเจ้าแห่งความร่ำรวย โชคลาภ
เทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ย
เทพเจ้า "ไฉ่สิ่งเอี๊ย" (財神爺) พาลาเดียม เวิลด์ ช้อปปิ้ง แยกประตูน้ำ

เมื่อไหว้รับเทพเจ้าไฉ่สิ่งเอี๊ยเสร็จเรียบร้อย บางคนก็จะออกไปไหว้เทพเจ้านอกบ้านที่ตนเคารพนับถือตามสถานที่ต่างๆเพื่อขอพรและความเป็นสิริมงคล ดังที่เราจะเห็นกันเป็นประจำในทุกๆปี แต่สำหรับบางคนก็อาจจะไปไหว้เทพเจ้าอื่นๆ หลังจากไปสวัสดีปีใหม่ญาติพี่น้อง และอวยพรตรุษจีนญาติผู้ใหญ่แล้ว ซึ่งตรงนี้น่าจะขึ้นอยู่กับความสะดวกของแต่ละคนด้วยนั่นเองค่ะ

วันถือหรือวันเที่ยว "ชิวอิก" (初一)

เมื่อถึงวันเริ่มต้นแรกซึ่งเป็นวันใหม่ของปี ซึ่งเป็นวันถือ และวันเที่ยว คำพูดบางคำ เช่น แตก ล้ม จบสิ้น นั้นถือเป็นคำต้องห้าม วันนี้จะไม่มีการดุด่า ไม่พูดคำหยาบ ไม่นินทาว่าร้าย ห้ามทวงหนี้ และคิดแต่เรื่องดีๆ เสื้อผ้าที่สวมใส่ก็จะเลือกสีที่เป็นมงคลเช่นสีแดง ไม่ใส่สีที่เป็นอัปมงคล เช่น สีดำ ไม่ทำสิ่งของแตกหักเสียหายเพราะถือกันว่าจะเป็นลางไม่ดี ห้ามกวาดบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าการกวาดบ้านในวันนี้เป็นการกวาดทรัพย์สินทิ้ง นอกจากนี้บางคนยังมีความเชื่อว่า การกินเจในมื้อแรกของปืนั้นจะได้บุญเสมือนกับกินเจทั้งปี เลยทีเดียวเชียวค่ะ

ภาพประกอบวันตรุษจีน
ภาพประกอบวันตรุษจีน

ในวันชิวอิกนี้ ชาวจีนจะสวมใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ไปสวัสดีปีใหม่ญาติพี่น้อง และอวยพรตรุษจีนญาติผู้ใหญ่โดยจะนำ "ไต่กิก" (大桔) ผลส้ม 4 ผล ห่อผ้าแดงหรือใส่ในถุงแดงไปด้วย ชาวจีนถือว่า ส้มเป็นผลไม้มงคลเพราะคำว่า "ส้ม" (桔) ออกเสียงใกล้เคียงกับคำว่า (吉) ที่แปลว่า "สิริมงคล โชคดี มีมงคล" และเมื่อญาติผู้ใหญ่รับส้มแล้ว ก็จะหยิบเอาส้มเก็บไว้เพียง 2 ลูก ส่วนอีก 2 ลูก จะมอบคืนกลับให้ผู้นำมาให้พร้อมกับกล่าวอวยพรผู้ให้โดยมีความหมายว่าไม่เก็บความเป็นสิริมงคลและความโชคดีไว้ทั้งหมด แต่มอบคืนกึ่งหนึ่งให้กับผู้ที่มาพร้อมกับมอบความเป็นสิริมงคลและความโชคดีเพิ่มไปให้ในขณะเดียวกัน หลังจากเยี่ยมญาติพี่น้อง และอวยพรตรุษจีนญาติผู้ใหญ่แล้ว ก็จะพากันท่องเที่ยว ไปไหว้เทพเจ้าหรือไปทำบุญตามที่ต่างๆ

เทศกาลตรุษจีน ห้างพาลาเดียม
ภาพประกอบวันตรุษจีน

แต่เทศกาลตรุษจีนยังไม่ได้หมดเพียงเท่านี้นะคะ ในสมัยก่อนนั้น เทศกาลตรุษจีนจะเริ่มตั้งแต่วันชิวอิกซึ่งนับเป็นวันแรก ไปจนถึงวัน "ชิวสี่" (初四) ซึ่งเป็นวันที่ 4 ของเทศกาลตรุษจีน วันที่ 4 นี้เป็นวันที่เชื่อกันว่า เทพเจ้าเตาไฟ และเทพเจ้าองค์อื่น ๆ กลับลงมาจากสวรรค์หลังจากเข้าเฝ้าองค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ชาวจีนจะเรียกวันนี้ว่า วัน "ซิ้งเลาะที" (神下天) และในวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่ก็จะเริ่มต้นทำงานกันตามปกติหลังจากที่หยุดมาหลายวัน แต่เทศกาลตรุษจีนนั้นก็ยังไม่ได้สิ้นสุดลงในวันนี้ แต่จะไปสิ้นสุดลงใน วัน "เจียง้วยจับโหงว" (正月十五) ซึ่งตรงกับวันที่ 15 ของเดือน 1 ตามปฏิทินจีน

ภาพประกอบวันตรุษจีน
ภาพประกอบวันตรุษจีน

สุดท้ายกับเรื่องราวของเทศกาลตรุษจีน (春節) ที่แม้จะผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน หลายๆอย่างอาจถูกปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย แต่ก็ยังคงเป็นประเพณีและธรรมเนียมปฏิบัติที่คนไทยเชื้อสายจีนให้ความสำคัญและยึดถือสืบทอดมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

สำหรับ ตรุษจีน (春節) ในปี 2567 นี้ "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้" (新正如意 新年发财) "คิดหวังสิ่งใดสมหวังสมปรารถนา มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดี ร่ำรวยตลอดปี" กันทุกๆคนนะคะ และเรื่องราวของเทศกาลตรุษจีนที่ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ เรียบเรียงมานี้ ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใดต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ หากมีอะไรที่ตกหล่นหรือไม่สมบูรณ์ แนะนำ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ได้ ที่นี่ ค่ะ

ขอขอบคุณ

ข้อมูลจาก วารสารศิลปวัฒนธรรม ถาวร สิกขโกศล ฉบับที่ 04 ปีที่ 28 (01/02/2550)

หนังสือ และ วารสารต่างๆ ฯลฯ

ภาพประกอบจาก วิกิมีเดียคอมมอนส์, pixabay, pxhere

เรียบเรียงโดย GibGub Shop / ร้าน กิ๊ฟกั๊ฟฟ์