"เอี๊ยม" ชื่อนี้มีที่มา

วันนี้มีเรื่องราวเกี่ยวกับ ไอ้เจ้าชุดที่มีสายรัดคล้องที่ไหล่ คลุมไปหมดทั้งตัว เจ้าเสื้อที่ออกแบบมาให้มีลักษณะเสื้อกับกางเกงติดกัน เป็นเสื้อผ้าตัวเดียวกัน ไอ้เจ้าชุดแบบนี้ ที่เราเรียกกันว่า "ชุดเอี๊ยม" นี่แหล่ะค่ะ เป็นเรื่องราวที่วันนี้ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ นำมาเขียนเล่าให้ฟัง เป็นเรื่องราวที่ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ เองก็เพิ่งทราบ และอยากแบ่งปันให้เพื่อนๆทราบถึงที่มาที่ไปว่าทำไมคนไทยถึงเรียกขานนาม เจ้าชุดแบบนี้ว่า "เอี๊ยม" มีใครเคยสงสัยกันบ้างมั้ยค่ะ ถ้ามีใครที่รู้สึกสงสัยเหมือน กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ เราไปดูด้วยกันนะคะ ว่าชื่อนี้มีที่มาที่ไปยังไง

ภาพประกอบชุดเอี๊ยม

"เอี๊ยม" เป็นภาษาไทย ที่ไม่ใช่ภาษาไทย

ในประเทศไทยของเรา มีกลุ่มชาวจีนที่อพยพ เข้ามาตั้งถิ่นฐานในไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มาจากหลายถิ่นฐาน ทั้ง แต้จิ๋ว, ฮกเกี้ยน, กวางตุ้ง, ฮากกา, และไหหลํา ฯลฯ แต่ชาวจีนกลุ่มใหญ่ที่เยอะที่สุดเป็นชาวจีนแต้จิ๋ว (อ้างอิง หลักฐานยอด สํามะโนครัวมณฑลกรุงเทพฯ ศก 128 ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2452 ) ในสมัยนั้นชาวไทยที่ติดต่อสื่อสารและพูดคุยกับชาวจีน จึงได้รับเอาวัฒนธรรม รวมถึงภาษาที่ใช้พูดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งด้วย ทําให้เกิดการเอาภาษาจีนมาใช้ในภาษาไทย ซึ่งทำให้เกิดการใช้คำใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งคำว่า "เอี๊ยม" นั้นก็เป็นหนึ่งในคำที่มีรากเหง้ามาจากภาษาจีนนั่นเองค่ะ

ภาพประกอบชุดเอี๊ยม
ภาพประกอบชุดเอี๊ยม
ภาพประกอบชุดเอี๊ยม

ความหมายของคำว่า "เอี๊ยม"

คำว่า "เอี๊ยม" 掩 นั้นมาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว หมายถึง "ผ้าปิดอก" ซึ่งเจ้าผ้าปิดอกนี้เอง นับเป็นหนึ่งในชุดชั้นในแบบดั้งเดิมของจีนด้วยนะคะ และใช้เฉพาะสำหรับผู้หญิงและเด็ก โดยลักษณะเฉพาะของผ้าที่ว่านี้ จะทำด้วยผ้าทั้งชิ้น โดยที่ไม่มีแขน เปลือยด้านหลัง มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม มีสายรัดผูกคล้องไปที่หลังและที่คอ นอกจากนี้ "เอี๊ยม" ยังถูกใช้เป็น "ผ้ากันเปื้อน" รวมถึงใส่เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น และป้องกันสิ่งสกปรก และนอกจากหมายถึง "ผ้าปิดอก" แล้ว

ภาพประกอบชุดเอี๊ยม
ภาพประกอบชุดเอี๊ยม

ในพจนานุกรมฯ ยังหมายถึง "เต่า" อีกด้วยนะคะ ซึ่งคำว่าเต่านี้ หลายๆคนที่เป็นชาวไทยเชื้อสายจีน คาดว่าน่าจะเป็นการอ่านออกเสียงที่เพี้ยนมาจาก คำว่า 兜 ซึ่งอ่านว่า "เตา" หรือ "ตาว" จากภาษาจีนแต้จิ๋วด้วยเช่นกันค่ะ ซึ่งคำว่า "เตา ( 兜 )" เป็นการเอาผ้าห่อสิ่งของไว้ตรงกลาง แล้วเอามุมผ้าสองมุมตรงข้ามกัน ผูกเข้าหากัน แต่สำหรับคนไทยเก่าๆบางคนบอกว่า อาจเป็นเพราะรูปร่างลักษณะของผ้าที่พอเอามาห่อหุ้มร่างกายในเด็กเล็กๆนั้นดูจะคล้ายคลึงกับกระดองเต่านั่นเองค่ะ นี่จึงเป็นที่มาที่คนในสมัยก่อนนอกจากจะเรียกขาน ผ้าปิดอก นี้ว่า "ชุดเอี๊ยม" แล้วยังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ชุดเต่า" อีกด้วยนะคะ

ภาพประกอบชุดเอี๊ยม
ภาพประกอบชุดเอี๊ยม

ขณะที่เรารับเอาวัฒนธรรมและภาษาที่ใช้พูดรวมถึงการแต่งกายของชาวจีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งแล้ว เราก็ยังรับเอาภาษา การแต่งกาย และวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาด้วยเช่นกัน ซึ่งเจ้าชุดที่ชาวต่างชาตินำเข้ามา และเรียกกันว่า overalls, bib-and-brace overalls, dungarees ฯลฯ นั้นก็เป็นชุดที่มีลักษณะปิดหน้าอก และมีสายรัดคล้องไปที่ไหล่เช่นกัน จึงน่าจะเป็นการนำเอาภาษาจีนไปใช้แทนที่ในภาษาอังกฤษ โดยใช้คำเรียกชุดดังกล่าวนี้ว่า "เอี๊ยม" ด้วยนั่นเองค่ะ

ภาพประกอบชุดเอี๊ยม
ภาพประกอบชุดเอี๊ยม
ภาพประกอบชุดเอี๊ยม

ในปัจจุบันนี้ "ชุดเอี๊ยม" สำหรับคนยุคใหม่ไม่ได้เป็นแค่ผ้าปิดหน้าอก ชุดชั้นใน หรือ ผ้ากันเปื้อนที่ใช้เพียงแค่สำหรับผู้หญิงและเด็กอีกต่อไปแล้ว แต่กลับกลายเป็นแฟชั่นที่สวยงาม ซึ่งสามารถใส่ได้ทั้งหญิงและชาย มันกลับกลายเป็นแฟชั่นที่มีให้เลือกกันมากมาย มีเนื้อผ้าที่หลากหลาย อีกทั้งยังมีวิวัฒนาการตามความนิยมของยุคสมัยใหม่ มีทั้งที่เป็น ชุดเอี๊ยมกระโปรง ชุดเอี๊ยมกางเกง ชุดเอี๊ยมแต่งขาด หรือ ชุดเอี๊ยมที่ประดับประดาด้วยลวดลายต่างๆ ให้เห็นเยอะแยะกันไปหมด ยิ่งถ้าเป็น ชุดเอี๊ยมยีนส์ ด้วยแล้วมีไว้สักชุดไม่ตกเทรนด์แฟชั่นแน่นอนค่ะ และสำหรับคนที่สนใจเรื่องราว ความเป็นมาของยีนส์ เพิ่มเติมกดที่นี่ได้เลยนะคะ

ชุดเอี๊ยม
ชุดเอี๊ยม

สุดท้ายกับเรื่องราวที่มาของคำว่า "เอี๊ยม" กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ หวังว่า เพื่อนๆหรือผู้ที่เข้ามาอ่านคงได้ประโยชน์จากเรื่องราวนี้ไม่มากก็น้อยนะคะ ถ้าหากมีข้อผิดพลาดประการใดๆ ต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะคะ และถ้าหากมีอะไรที่ตกหล่นหรือไม่สมบูรณ์ แนะนำ กิ๊ฟกั๊ฟฟ์ ได้ ที่นี่ ค่ะ

ขอขอบคุณ

หนังสือ และ วารสารต่างๆ ฯลฯ

ภาพประกอบจาก วิกิมีเดียคอมมอนส์, pixabay

เรียบเรียงโดย GibGub Shop / ร้าน กิ๊ฟกั๊ฟฟ์